ชวนสำรวจเทรนด์การส่งออกและนำเข้าอาหารของไทย ในงาน CONNECT: Food Industry กับ ProPak Asia
1 min readในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง “Informa Markets” ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ระหว่างรอต้อนรับงาน ProPak Asia 2021 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ภายใต้หัวข้อ “เทรนด์ของอาหารและเครื่องดื่ม และสถานการณ์การนำเข้าและส่งออก” (Food and Beverage Trends and Import & Export Projection) โดยได้ร่วมมือกับทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป หรือ TFPA เพื่อพูดคุยถึงแนวโน้มและทิศทางการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของประเทศไทย
ในงานสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคุณรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่ม-โครงการอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์กล่าวเปิดต้อนรับด้วยความสำคัญของการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ นั่นคือการอุ่นเครื่องเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับงาน ProPak Asia ที่กำลังจะมาถึง รวมไปถึงการสร้างความมั่นใจในการจัดงาน ProPak Asia 2021 แม้ว่านโยบายการเปิดประเทศจะยังไม่เอื้อให้กับการจัดงานเท่าไหร่นัก แต่ทางอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ก็ได้พัฒนาในส่วนของ Virtual Exhibition เพื่อให้เกิดการค้นหาและเชื่อมโยงทางธุรกิจได้ และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าแม้จะมีอุปสรรคก็ตาม
ต่อมา คุณวิศิษฐ์ ลิ้มลืมชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ได้ขึ้นมาบรรยาย โดยคุณวิศิษฐ์ได้กล่าวถึงปัญหาการส่งออกอาหารของไทยว่าได้รับผลกระทบมาตลอดจากการที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง แต่ในปี 2021 นี้ มีการคาดการณ์ไปในทิศทางบวก เนื่องจากผลประกอบการของเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ของปี 2021 เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 4.4%
คุณวิสิษฐ์ กล่าวเสริมว่าเนื่องจากปัจจัยเชิงบวกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัคซีน COVID-19 แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึงราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันได้รับผลเชิงบวก รวมไปถึงประเทศที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำมันก็มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และประการสุดท้ายคือค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง จากแต่ก่อนที่ค่าเงินบาทแข็งทำให้เสียเปรียบในตลาดการส่งออก
ภายใต้วิกฤตของโรคระบาดเองก็ก่อให้เกิดความท้าทายในธุรกิจการส่งออกและนำเข้าอาหารหลายแง่ในปี 2020 ไม่ว่าจะเป็นค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหาร ต้นทุนในบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าเงินบาทที่แข็ง ภัยแล้งในช่วงต้นปี และที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 คือต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการรักษาความปลอดภัยในการป้องกันโรค ด้วยหลายปัจจัยทำให้ลำดับประเทศผู้ส่งออกอาหารของไทยจากเดิมที่อยู่ในอันดับที่ 11 ตกไปอยู่ในอันดับที่ 13 และอยู่ในอันดับที่ 4 ของเอเชีย และในแง่ของมูลค่าคือลดลงถึง 5.1%
ในส่วนของการนำเข้า ประเทศไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหารโดยเฉลี่ย 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 5.17% ต่อปี โดยสินค้าที่จะนำเข้าหลักๆ ก็จะเป็นอาหารทะเล เช่น ปลาทูน่า ที่ไทยจะนำเข้ามาแปรรูปและส่งออกอีกครั้งหนึ่ง
คุณวิศิษฐ์ยังได้เสริมเพิ่มเติมสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดของโรค COVID-19 ที่มีต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนด้วยว่า ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่เปลี่ยนไป โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การทำความสะอาดบ้านมากขึ้น แต่เลือกซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง รวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือยและเนื้อสัตว์ อาหารทะเลด้วย เช่นเดียวกับการทานอาหารนอกบ้านลดลง การทำกิจกรรมนอกบ้านก็ลดลงเช่นกัน
อีกแง่ที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคหันมาใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น จากเดิมที่เคยเลือกซื้อของที่หน้าร้านเป็นปกติก็หันมาซื้อบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ทั้งยังมีการซื้อของชำผ่านระบบออนไลน์เช่นกัน และกว่า 84% ก็หันมาใช้สื่อดิจิตัลเป็นครั้งแรกในช่วงที่มีโรคระบาดนี้ และที่สำคัญคือ ผู้บริโภคก็ยังคงมีพฤติกรรมการใช้สื่อดิจิทัลต่อไป และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
คุณวิศิษฐ์ปิดท้ายการบรรยายด้วยเทรนด์ของอาหารและบรรจุภัณฑ์ที่กำลังมาในปี 2021 โดยเทรนด์ของอาหารที่น่าสนใจคือ อาหารประเภท Plant-based ที่เน้นผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชเป็นหลัก รวมไปถึงอาหารที่มีน้ำตาล โซเดียม และไขมันต่ำ และอีกเทรนด์ที่น่าสนใจคือโปรตีนที่ได้จากแมลง ซึ่งคุณวิศิษฐ์กล่าวว่าในสหภาพยุโรปเริ่มมีการวางขายแมลงในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วด้วยเช่นกัน ส่วนเทรนด์ของบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจคือเรื่อง ความยั่งยืน ที่จะลดการใช้พลาสติก และเน้นวัตถุดิบประเภทเดียวในการทำบรรจุภัณฑ์ (mono-material packaging) เพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล ที่น่าสนใจต่อมาคือบรรจุภัณฑ์ที่เน้นความปลอดภัย เพื่อปกป้องผู้บริโภคจากการระบาดของ COVID-19 และอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจคือ การที่บรรจุภัณฑ์นั้นสามารถนำไปทำอย่างอื่นได้ด้วย (second life of packaging) เช่น กระดาษลังที่บรรจุสินค้ามาสามารถนำไปทำเป็นของเล่นในบ้านได้ เป็นต้น
เรียกได้ว่าครบ เต็มอิ่ม ความรู้และข้อมูลแน่นสำหรับการบรรยายของคุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ได้เห็นทั้งภาพรวมของอุตสาหกรรมการส่งออกและนำเข้าอาหารของไทยในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 แต่มีการคาดการณ์ว่ามีทิศทางเติบโตขึ้นในปี 2021 รวมถึงเทรนด์ที่น่าสนใจอย่างความยั่งยืนที่กำลังมาแรง และอาหารประเภท Plant-based เทรนด์ที่น่าสนใจเหล่านี้ถือเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการด้านอาหารได้นำไปพัฒนาธุรกิจของตนเองได้เป็นอย่างดี
สำหรับ ProPak Asia 2021 Virtual Event จะจัดขึ้นในวันที่ 9 – 23 มิถุนายน 2564 ผ่านทาง www.propakasia.com/ve โดย Virtual Event จะเป็นแพลตฟอร์มแสดงสินค้าและโชว์รูมแบบดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกให้คู่ค้าทุกฝ่ายภายใต้สถานการณ์ที่มีโรคระบาดเช่นนี้ โดยผู้เข้าร่วมชมงานสามารถค้นหาข้อมูลผู้แสดงสินค้าทั้งหมด และยังสามารถพูดคุยเพื่อเจรจาธุรกิจผ่านวิดีโอคอล อีกทั้งยังมีสัมมนาออนไลน์ (Online webinar & Panel Discussion) ที่จะเตรียมพร้อมให้กับผู้ประกอบการรับมือกับสถานการณ์ที่ผันผวนได้ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรระดับโลก ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมชมงาน ProPak Asia 2021 Virtual Event ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่ https://bit.ly/2PvQ6tC